จองห้องพัก

พระบรมมหาราชวัง

พระบรมมหาราชวัง

สถานที่ตั้ง : เขตพระนคร

พระบรมมหาราชวัง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสร้างขึ้นพร้อมสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อแรกสร้างประกอบด้วย 3 ส่วนคือ พระมหาปราสาท พระราชมณเฑียรสถาน และวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีเนื้อที่ 132 ไร่ ในอดีตพระบรมมหาราชวังเป็นที่ประทับของ พระมหากษัตริย์ ลักษณะแบบแผนการก่อสร้างคล้ายคลึงกับพระบรมมหาราชวังเก่าในสมัยกรุงศรีอยุธยาคือมีวัดพระศรีรัตนศาสดาราม อยู่ในบริเวณวังเหมือนกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 เริ่มรับอิทธิพลจากตะวันตกทำให้สถาปัตยกรรมมีลักษณะผสมผสานกับทางตะวันตกมากขึ้น หมู่พระที่นั่งที่สำคัญมีดังนี้คือ

พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เดิมชื่อพระที่นั่งอินทราภิเษกมหาปราสาท เป็นพระมหาปราสาทองค์แรกที่สร้างขึ้นในพระราชวัง เป็นที่ประดิษฐานพระบรมศพพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระอัครมเหสี และพระบรมวงศานุวงศ์ใช้ประกอบพระราชพิธีสำคัญ เช่น พระราชพิธีการมงคลและบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ

พระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาทอยู่ใกล้กับพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทใช้เป็นที่ประทับทรงพระราชพาหนะและประทับเปลื้อง เครื่องในงานพระราชพิธีที่มีขบวนแห่

พระที่นั่งพิมานรัตยาสร้างเมื่อ พ.ศ. 2332 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้เป็นที่บรรทมและ ทรงใช้เป็นที่ชุมนุมมหาสมาคมสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชบริพารฝ่ายในเข้ารับพระราชทานเครื่องอิสริยยศและเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และนอกจากนั้นยังเป็นที่สรงน้ำพระบรมศพพระบรมวงศานุวงศ์ก่อนที่จะประดิษฐานพระบรมโกศ ในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทสร้างในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2419 ใช้เป็นที่รับรอง พระราชอาคันตุกะชั้นพระราชาธิบดีหรือชั้นประมุขของรัฐ นอกจากนี้ยังมีหมู่พระที่นั่งสำคัญอื่นๆ เช่น พระที่นั่งราชกรัณยสภา พระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ พระที่นั่งบรมราชสถิตย์มโหฬาร พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ฯลฯ

วัดพระศรีรัตนศาสดารามหรือวัดพระแก้ว เป็นพระอารามหลวง ตั้งอยู่ตรงมุมด้านตะวันออกเฉียงเหนือของพระบรมมหาราชวัง เป็นที่ประดิษฐานพระมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) และใช้เป็นที่ประกอบพระราชพิธีทางศาสนาที่สำคัญ วัดพระแก้วสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2327 และได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1-9

การเดินทาง

1.โดยรถไฟฟ้าบีทีเอส - เส้นทางสายสีลม ลงสถานีสะพานตากสิน แล้วเดินออกทางออกที่ 2 จากนั้นใช้บริการเรือด่วนเจ้าพระยา ไปยังท่าช้างวังหลัง แล้วเดินเท้าอีกไม่ไกล ก็จะเจอทางเข้าพระบรมมหาราชวัง

2.โดยรถยนต์ - ขับรถไปตามเส้นทางรถไฟฟ้าบีทีเอสถึงสถานีสะพานตากสิน แล้วนั่งเรือด่วนเจ้าพระยาไปยังท่าช้างวังหลัง เดินเท้าอีกไม่ไกล ก็จะเจอทางเข้าพระบรมมหาราชวัง

3.โดยรถประจำทาง - สาย 1, 3, 6, 9, 15, 19, 25, 30, 32, 33, 39, 43, 44, 47, 53, 59, 60, 64, 65, 70, 80, 82, 91, 123, 201, และ203